SMART NEWS

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประชุมร่วมแก้ไขปัญหาการขนย้ายกากแคดเมียม 19 เม.ย. 67 11:04 น.

สถานการณ์ต่างประเทศ

สายการบินเริ่มระงับใช้ โบอิ้ง 777 หลังชิ้นส่วนร่วงกราว

views

หลายสายการบิน เริ่มประกาศระงับการใช้เครื่องบินโบอิ้ง 777 เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการสอบสวนแล้วเสร็จ หลังเกิดส่วนเครื่องบินโดยสารรุ่นดังกล่าวของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส หล่นใส่บ้านเรือนประชาชน ขณะทำการบินในสหรัฐฯ

     ความคืบหน้าหลังเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้อง และมีเศษชิ้นส่วนตกใส่บ้านเรือนประชาชนในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ของสหรัฐฯ เมื่อวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น ล่าสุด สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ได้สั่งระงับการใช้เครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่ใช้เครื่องยนต์ Pratt &Whitney 4000 ซึ่งมีทั้งหมด 52 ลำ ออกไปก่อน แต่ก่อนหน้านี้ได้มีการพักการใช้งานเครื่องไปแล้ว 28 ลำ ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 โดยสายการบินคาดว่า การระงับฝูงบินดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่ทางการญี่ปุ่นได้ร้องขอให้สายการบินทุกสายที่ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่มีเครื่องยนต์ Pratt &Whitney 4000 รุ่นเดียวกับของยูไนเต็ด แอร์ไลนส์ที่เกิดเหตุ ให้เลี่ยงบินผ่านน่านฟ้าญี่ปุ่นด้วย พร้อมยังสั่งให้สายการบิน เจแปน แอร์ไลน์ส และเอเอ็นเอ ระงับการใช้เครื่องรุ่นดังกล่าวไปก่อนด้วย โดยเอเอ็นเอมีเครื่องรุ่นดังกล่าวที่ใช้เครื่องยนต์ Pratt & Whitney PW4000 19 ลำ ส่วนเจแปน แอร์ไลน์ส มีทั้งหมด 13 ลำ

     ด้านสายการบินเอเชียนา แอร์ไลน์ส ของเกาหลีใต้มีเครื่องรุ่นดังกล่าว 9 ลำ แต่ระงับการใช้งานไปอยู่แล้วในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

    ก่อนหน้านี้ บริษัทโบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินในสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทขอแนะนำให้สายการบินต่างๆ ระงับการให้บริการด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่ติดตั้งเครื่องยนต์รุ่น Pratt & Whitney PW 4000 เป็นการชั่วคราว จนกว่าสำนักงานการบินพลเรือนของสหรัฐฯ หรือ FAA จะสามารถกำหนดขั้นตอนการตรวจสอบความปลอดภัยที่เหมาะสมได้

     ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนของสหรัฐฯ หรือ FAA ยืนยันว่า เครื่องบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส เที่ยวบิน 328 ซึ่งมุ่งหน้าสู่เกาะโฮโนลูลู รัฐฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิกประสบปัญหาเครื่องยนต์ด้านขวาขัดข้องไม่นานหลังบินออกจากท่าอากาศยานนานาชาติเดนเวอร์ และมีชิ้นส่วนเครื่องบินร่วงหล่นใส่บ้านเรือนประชาชนในแถบชานเมืองเดนเวอร์หลายชิ้น แต่ก็เดินทางกลับไปยังสนามบินอย่างปลอดภัย เบื้องต้น พบว่าใบพัดสองใบหัก ความเสียหายยังจำกัดอยู่ภายในเครื่องยนต์ ส่วนตัวเครื่องบินเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะเกิดเหตุมีผู้โดยสาร 231 คน และลูกเรือ 10 คน อยู่บนเครื่องบินลำดังกล่าว แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บบนเครื่องบินและไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บบนภาคพื้นดิน ทั้งนี้ เครื่องบินที่เกิดเหตุมีอายุการใช้งานมาแล้ว 26 ปี

    ขณะที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018เครื่องบินโบอิ้ง 777 อีกลำของยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ซึ่งมุ่งหน้าไปยังโฮโนลูลู ก็ประสบภาวะเครื่องยนต์ขัดข้องเช่นกัน โดยพบว่าโลหะครอบเครื่องยนต์ของเครื่องบินหลุดออกมาช่วงเวลา 30 นาทีก่อนเครื่องลงจอด ในครั้งนั้นสำนักงานความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติสอบสวนพบว่า เป็นผลมาจากการแตกหักของใบพัด ด้านกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นยืนยันว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม เครื่องบินโบอิ้งที่ใช้เครื่องยนต์รุ่น Pratt & Whitney 4000 เกิดปัญหาหลังขึ้นบินไม่กี่นาทีเช่นกัน ทำให้ต้องลงจอดฉุกเฉิน แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

TW-headbar