SMART NEWS

จีนเผยฮามาส-ฟาตาห์หารือกันที่จีน 1 พ.ค. 67 11:05 น.

สถานการณ์ในประเทศ

ไทยพร้อมจัดประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน

views

ไทยพร้อมจัดประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน มุ่งมั่นความมั่นคงร่วมกัน ด้าน ปตท.พร้อมเป็นฮับแอลเอ็นจีอาเซียนตามนโยบายกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครังที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meeting : 37th AMEM) ระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายน แนวคิดหลัก คือ“Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation” มุ่งเน้นความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานที่มีความยั่งยืนในอนาคตและหนึ่งในแผนงาน คือ สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี โดยให้ ปตท.เป็นแม่งานหลักในการดำเนินงาน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอ ปตท. กล่าวว่า ไทยมีความพร้อมในการเป็นฮับแอลเอ็นจีอาเซียน เพราะมีสถานีรับก๊าซ 2 แห่งในระยอง และกำลังจะเกิดแห่งที่ 3 ในโครงการร่วมทุนพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่3 ขณะที่ ปตท.มีความเชี่ยวชาญในการบริหารทั้งการขนส่งทางท่อที่ส่งก๊าซมานานกว่า 30 ปีมีความน่าเชื่อถือและเป็นธรรมด้านราคา ซึ่ง ปตท.จะเสนอก่อสร้างท่อก๊าซใหม่ 2 ท่อ เพื่อรองรับฮับอาเซียน ได้แก่โคราช-ขอนแก่น-น้ำพอง และเส้นพระนครใต้-บางปะกง พร้อมทั้งเพิ่มการขนส่งแอลเอ็นจีทั้งทางรถยนต์และเรือเล็กไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเรื่องนี้จะต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเห็นชอบแล้ว ปตท.จึงกำหนดรายละเอียดในแผนลงทุนในอนาคตต่อไป สำหรับเวทีการประชุม AMEM ในช่วงแรกวันที่ 2 – 3 กันยายน จะเป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ส่วนการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน จะมีขึ้นวันที่ 4 – 5 กันยายน โดยจะมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งประเด็นหารือจะเป็นการสรุปกิจกรรมและผลงานรวมทั้งข้อเสนอต่าง ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานนำเสนอต่อรัฐมนตรีพลังงานของ 10 ประเทศ ส่วนการจัดประชุมทวิภาคีระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา กระทรวงพลังงานจะเปิดโอกาสให้ผู้นำระดับรัฐมนตรีพลังงานและเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนได้พบปะเจรจาระหว่างการประชุม นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม ASEAN Energy Business Forum (AEBF) คู่ขนานไปกับการประชุมหลัก โดยจะเป็นงานนิทรรศการและการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานจากผู้ประกอบการ รวมทั้งการจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อหลัก “Renewable Energy Innovation Week” เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอาเซียนและประเทศต่าง ๆ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการบูรณาการเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนและดึงดูดนักลงทุน รวมทั้งจะมีการจัดพิธีมอบรางวัล ASEAN Energy Awards ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีควบคู่กับการประชุม AMEM เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันผลักดันให้เกิดการขยายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน และผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับการประชุม AMEM ครั้งที่ 37 จะมีส่วนช่วยผลักดันและสนับสนุนให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 2559 – 2579 บรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความมั่นคง มีความยั่งยืนทางด้านพลังงาน เกิดการค้า การลงทุน และการพัฒนาด้านพลังงาน สอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) พ.ศ. 2559 – 2568 ระยะที่ 1 พ.ศ. 2559 – 2563 อาทิ การขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าโครงการ LTM-PIP จำนวน 300 เมกะวัตต์ การปรับมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน อาทิ อุปกรณ์ส่องสว่างและเครื่องปรับอากาศ การลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2563 การผลักดันให้อาเซียนมีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเป็นร้อยละ 23 ภายในปี 2568 การปรับปรุงฐานข้อมูลอาเซียนด้านพลังงานให้เป็นมาตรฐานสากลภายในปี 2563 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเพื่อภาพลักษณ์ที่ดี การเสริมสร้างศักยภาพด้านพลังงานนิวเคลียร์ในด้านการกำกับดูแลเทคนิคและความปลอดภัย เป็นต้น สำหรับกรอบความร่วมมืออาเซียนด้านพลังงานมี 7 สาขา และ 1 เครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. ความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน 2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขนส่งก๊าซธรรมชาติ 3. การส่งเสริมเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด 4. การส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 5. การส่งเสริมพลังงานทดแทน 6. การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน 7. การจัดทำนโยบายและแผนอาเซียนด้านพลังงาน รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงาน.

TW-headbar