SMART NEWS

J&B ให้ปากคำตำรวจ ปทส. กรณีกากแคดเมียม 18 เม.ย. 67 14:04 น.

สถานการณ์ในประเทศ

กรมศุลกากรชู 5 มาตรการยกระดับ Doing Business

views

กรมศุลกากรวาง 5 มาตรการ ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาดำเนินการ เพื่อยกอันดับความยาก-ง่ายประกอบธุรกิจในประเทศไทย รับการประเมินของธนาคารโลกปี 62-63

     นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรเตรียม 5 มาตรการ เพื่อยกระดับ Ease of Doing Business หรือความยาก-ความง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ที่ธนาคารโลกจะประเมิน ปี 2562-2563 เชื่อว่าจะช่วยทำให้คะแนนดีขึ้น ส่วนอันดับของไทยขึ้นกับระดับการพัฒนาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นด้วย

    สำหรับ 5 มาตรการ ประกอบด้วย กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงสำหรับของนำเข้า(Pre – Arrival Processing: PAP) ซึ่งช่วยผู้นำเข้าลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการผ่านพิธีการนำเข้า อีกทั้งสามารถยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง และสามารถติดต่อเพื่อรับสินค้าได้ทันทีเมื่อเรือหรืออากาศยานมาถึงในกรณี Green Line

     มาตรการที่ 2 ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการใช้ระบบ e-Bill Payment ช่วยให้สามารถชำระผ่านช่องทาง Internet Banking, Mobile Banking, ATM, Counter Bank และตัวแทนชำระเงิน โดยมีธนาคารเข้าร่วม 6 ธนาคาร และ 2 ตัวแทนชำระเงิน ทำให้ช่วยลดเวลาได้ 3 ชั่วโมงต่อครั้ง หรือ 3.5 ล้านชั่วโมงต่อปี และค่าใช้จ่ายในการติอต่อกับกรมศุลกากร 433.74 บาทต่อครั้ง หรือ 513 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถสั่งพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ด้วยที่ตัวเอง โดยไม่ต้องเสียเวลามารับใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากร

    มาตรการที่ 3 ไม่เรียกไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs (No Customs Declaration Copy) โดยสำนักงานศุลกากร ด่านศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย และท่าเรือแหลมฉบัง ไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าในขั้นตอนการตรวจปล่อย ทำให้สามารถลดสำเนาใบขนสินค้าที่ผู้มาติดต่อ/ ผู้ประกอบการต้องพิมพ์ ปีละประมาณ 60 ล้านแผ่น และลดค่าใช้จ่ายกระดาษได้ไม่น้อยกว่าปีละประมาณ 30 ล้านบาท มาตรการที่ 4 ลดอัตราการเปิดตรวจ (Risk Based Management on Profile) โดยพัฒนาแฟ้มบริหารความเสี่ยงในการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดอัตราการเปิดตรวจ สำหรับสินค้าที่มัดลวดเพื่อไปตรวจที่คลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี เป็นผลให้อัตราการเปิดตรวจโดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์ตามพิกัด 87.08 ลดลงจากร้อยละ 37 เหลือร้อยละ 26

    และมาตรการที่ 5 ใช้ระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์แบบขับผ่าน (DRIVE – THROUGH X-RAY SCANNER) เป็นเทคโนโลยีในการเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ยานพาหนะขนส่งสินค้า รวมทั้งยานพาหนะโดยสาร สามารถเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ 150 ตู้/ชั่วโมง ซึ่งมากกว่า X-Ray แบบ Fixed ที่เอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ 30 ตู้/ชั่วโมง คิดเป็น 5 เท่า ทำให้สามารถลดระยะเวลาการติดต่อของผู้ประกอบการลดลง ลดระยะเวลาการเอกซเรย์สินค้า ระยะเวลาการรอคอยและระยะเวลาความแออัด ที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ

    ส่วนผลการตรวจการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเดือนมกราคม 2563 จับกุมได้ทั้งสิ้น 3,270 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 91 ล้านบาท โดยเป็นคดีลักลอบ คิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าทั้งหมด สินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ โคคาอีน ยาอี (เอ็กซ์ตาซี่) บุหรี่ ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เมทแอมเฟตามีนและเคตามีน

     สำหรับการระบาดของไวรัสโควิด 19 กรมศุลกากรประเมินว่าจะไม่ส่งผลต่อเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2563 ทั้งตั้งไว้ว่าจะจัดเก็บได้ที่ 111,000 ล้านบาท โดยเป้าหมายนี้เพิ่มจากปีงบประมาณ 2562 ที่จัดเก็บได้ 108,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 105,000 ล้านบาท เพราะการระบาดของไวรัสอาจส่งผลทำให้มีการชะลอการผลิตในจีนช่วงหนึ่งเท่านั้น ส่งผลต่อการนำเข้าส่งออกวัตถุดิบจากจีนมาไทยและไทยไปจีนกระทบเพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น

TW-headbar