SMART NEWS

“บลิงเคน” พบหารือ “หวัง อี้” ที่กรุงปักกิ่ง 26 เม.ย. 67 13:04 น.

สถานการณ์ในประเทศ

ธปท.พร้อมใช้มาตรการการเงินดูแลเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจชะลอลงมากขึ้น

views

ธปท.พร้อมใช้มาตรการการเงินเพิ่มเติม หากผลกระทบจากไวรัสโคโรนา งบประมาณปี 63 สะดุด ภัยแล้งกระทบเศรษฐกิจชะลอหนักขึ้น ระบุหวังแบงก์ลดดอกเบี้ยตาม กนง. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและครัวเรือน

    นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.) กล่าวว่า แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (5 ก.พ.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อย 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที แต่ กนง.ก็พร้อมใช้ Policy Space เพิ่มเติมทั้งนโยบายดอกเบี้ยและมาตรการต่าง ๆ หากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่านี้ เพราะแม้ว่าการลดดอกเบี้ยจะมีผลต่อเศรษฐกิจไม่มากเท่าไหร่ เพราะดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ แต่ในภาวะปัจจุบันที่มาตรการการคลังมีจำกัด เพราะยังติดขัดเรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ยังเบิกจ่ายไม่ได้ ดังนั้น ต้องผสมผสานมาตรการทั้งหมด ทั้งมาตรการการคลัง มาตรการการเงินและสถาบันการเงิน เพราะถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงกว่านี้ จนเกิดปัญหาหนี้เสีย คนตกงาน อาจสร้างปัญหาต่อเนื่องระยะยาว ดังนั้น จึงต้อง TAKE ACTION โดยเร็ว

    อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ได้มีการหารือกับสมาคมธนาคารไทยและผู้บริหารสถาบันการเงิน เน้นย้ำให้มีการดูแลลูกหนี้เอสเอ็มอีโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโคโรนา โดยให้ดูแลเรื่องของสภาพคล่อง การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก ซึ่งให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งทีมพิเศษดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งคาดหวังว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม กนง.โดยเร็ว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและครัวเรือน

    “ธปท.เป็นธนาคารกลางแห่งแรกที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะยืดเยื้อและรุนแรงแค่ไหน ขณะเดียวกันยังมีความกังวลเรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2563 จะเริ่มเบิกใช้เมื่อใด โดยเฉพาะงบลงทุน เพราะหากหมดช่วงเวลาเบิกจ่ายอาจจะกลายเป็นตัวถ่วงแทนที่จะเป็นตัวกระตุ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภัยแล้งที่กระทบเกษตรกร และกระทบถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ซึ่งเห็นได้ว่ากันชนที่มีอยู่บางลง หลังเจอความเสี่ยงหลายลูก ดังนั้น กนง.จึงมีมติเอกฉันท์ลดดอกเบี้ย และส่งสัญญาณให้ชัดเจน” นายวิรไท กล่าว

     ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท แม้ว่าตั้งแต่ต้นปี 2563 เงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่ ธปท.ยังไม่สบายใจ เพราะค่าเงินที่อ่อนค่ายังไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวอยู่มาก ทั้งจากไวรัสโคโรนา งบประมาณปี 2563 และ ภัยแล้ง ซึ่ง ธปท.พร้อมใช้มาตรการดูแลหากพบว่าค่าเงินบาทมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

    “ยอมรับว่าปีที่ผ่านมามีการเก็งกำไรบางช่วง เพราะประเทศไทยมีเสถียรภาพค่อนข้างดี ดังนั้น จึงมีเงินมาพักบ้าง ธปท.จึงออกมาตรการดูแล และผ่อนคลายให้ไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แต่ทั้งปี 2562 เงินทุนต่างชาติไหลออกสุทธิ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ” นายวิรไท กล่าว.

TW-headbar